ประวัติ
โบราณเล่าสืบกันมาว่า
ในสมัยหนึ่งเมื่อครั้งเมืองเวียงจันทน์แตกราษฏรได้อพยพครอบครัวร่นถอยมาทางใต้เพื่อหนีภัยแห่งสงคราม
มีราษฎรกลุ่มหนึ่ง ได้อพยพครอบครัวมาถึงบริเวณวัดไม้รวก จึงได้พิจารณาดูสถานที่
ที่จะตั้งบ้านเรือนและทำมาหากิน เห็นว่าบริเวณนี้เป็นการเหมาะสมที่จะตั้งบ้านเรือน
และมีวัดไม้รวกนี้อยู่ก่อนแล้ว มีศาลาเก่า ๆ อยู่หนึ่งหลัง
จึงได้ขนานนามที่ตั้งขึ้นนี้ เรียกว่า บ้านโคกศาลา
ในสมัยนั้นบริเวณของวัดมีไม้รวกขึ้นอยู่เป็น จำนวนมาก มีกุฏิให้พระสงฆ์จำพรรษาอยู่ประมาณ
๓-๔ หลัง แสดงว่ามีวัดตั้งมาก่อนแล้ว แต่ไม่ปรากฏชื่อวัดว่าอย่างไร
ชนกลุ่มนั้นจึงได้พร้อมใจกัน ขนามนามชื่อ วัดไม้รวก
สืบต่อกันมาเมื่อประชาชนมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินเจริญขึ้น
จึงช่วยกันพัฒนาในทางพระพุทธศาสนา วัดไม้รวกก็เจริญขึ้นเป็น ลำดับ ๆ มา
จนลุถึงท่านเจ้าอาวาส (ชื่อใดไม่ทราบ) เรียกชื่อท่านว่า ท่านปลัด เป็นเจ้าอาวาส
เป็นเจ้าข้าคณะหมวด ตำบลท่าเรือ และเป็นพระ อุปัชฌาย์
มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาประมาณปีละ ๓๐-๔๐ รูปทุกปี
และอุบาสกอุบาสิกาเคารพนับถือเลื่อมใสศรัธาในพระคุณท่านมาก กิจในทางศาสนา
ท่านก็ได้ช่วยเหลือในเรื่องราชการทางคณะสงฆ์ ไม่ใช่แต่เพียงเจ้าคณะหมวดเท่านั้น
ยังต้องทำหน้าที่ดูแลควบคุมไปถึงพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ด้วย
แต่ศาลาการเปรียญในสมัยนั้นคงจะทรุดโทรมลงมาก
และไม่มั่นคงถาวรไปได้นานพระเดชพระคุณท่านเจ้าวัดบางจากจังหวัดธนบุรี จึงได้นำเอา
ตำหนักสำหรับว่าราชการพระเจ้าอยู่หัว ในรัชการไหนไม่ปรากฏชัด พร้อมด้วยบุษบก
ประดับด้วยกระจกและประตูประดับมุก เป็นสมบัติที่วิจิตรสวยงาม อันล้ำค่า
นำมาก่อสร้างถวายไว้เป็นศาลาการเปรียญอยู่จนถึงทุกวันนี้
และบุษบกนั้นใช้เป็นธรรมาสน์ (เป็นที่แสดงธรรม) ส่วนประตูที่ประดับด้วยมุกนั้น
ทำเป็นประตูพระอุโบสถ แล้วต่อมาก็มีผู้ศรัธาได้ก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นอีก ๑ องค์
กว้างประมาณ ๑๐ เมตร ส่วนสูงนั้นไม่ทราบชัดเป็นเจดีย์ที่สวยงามมาก
องค์หนึ่งในอำเภอท่าเรือ ตามฐานมีซุ้มรอบฐาน มีพระพุทธรูปตามซุ้มทุก ๆ ซุ้ม
เมื่อท่านปลัดชราภาพไปตามสังขารแห่งกฏธรรมดา ก็ได้มรณภาพลง
ครั้นต่อมาเจ้าอธิการลอยก็เข้าดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบมา
ได้กระทำกิจในทางพระศาสนาให้เจริญสืบมา ส่วนในด้านการศึกษาวัดไม้รวกนี้ ก็มี
สอนพระธรรมวินัยแด่ภิกษุสามเณรและเยาวชนสืบต่อมาแต่ท่านมองเห็นกาลไกลต่อไปข้างหน้าว่าการศึกษาเท่านั้นย่อมเป็นแก่นสาร
จึงได้ให้ลูกหลาน มาศึกษาวิชาการให้ทันสมัยกับสมัยปัจจุบัน
แล้วเริ่มเปิดโรงเรียนเพื่อสอนเยาวชนให้มีความรู้อันทันสมัย
เมื่อถึงเวลาสอบไล่ให้ครูนำนักเรียนมาสอบ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบจังหวัดพระนคร
ส่วนโบราณสถานวัตถุ เช่น พระอุโบสถ วิหาร วิหารคต และกุฏิ
ก็เริ่ททรุดโทรมไปตามกาลเวลา เจ้าอธิการลอย เมื่ออายุพรรษามากขึ้น
ท่านถึงมรณภาพไปตามอายุขัย ท่านมรณภาพด้วยโรคลม
ต่อมาพระอธิการเปี่ยม จึงได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา
ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นที่เรียบร้อย สำหรับโรงเรียนก็ดำเนินสืบต่อมาด้วยดี
แต่ชื่อของวัดได้กลายมาเป็นชื่อ “วัดรวก” จาก “วัดไม้รวก” ตามที่ชาวบ้านชอบเรียกให้คำสั้นลง
เลยกลายเป็นชื่อ “วัดรวก” มาจนทุกวันนี้
เมื่อพระ อธิการเปี่ยมมรณภาพไปตามอายุขัย ท่านพระครูเนกขัมมวิสุทธิคุณ (ฮวด ฉายา เกสโร) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ สืบต่อมาจนถึงวันมรณภาพ ท่านมีนิสัยรักการศึกษา
ภารกิจเบื้องต้นก็คือ สอนหนังสือเด็กภายในวัด
ทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอมตามแบบโบราณ ครั้นต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ก็เปลี่ยนเป็น “โรงเรียน ประชาบาล” จึงได้ย้ายไปตั้งที่วัดกลางตำบลเดียวกัน
ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระอุปัชฌาย์” ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗
ได้รับประราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครู เนกขัมมวิสุทธิคุณ
รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอท่าเรือ
ต่อมาท่านก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลท่าเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น